กระบวนการก่อนการพิมพ์ (Prepress Process)
การแปลงเป็นข้อมูลดิจิตอล ในกรณีที่อาร์ตเวิร์คมาเป็นภาพลายเส้น หรือภาพถ่าย จำเป็นต้องแปลงภาพเหล่านี้ให้เป็นข้อมูลดิจิตอลซึ่งทำได้โดยใช้เครื่องสแกนเนอร์ เมื่อได้เป็นภาพดิจิตอลก็ทำการประกอบหน้าในคอมพิวเตอร์โดยใช้ซอฟต์แวร์จัดหน้า
การตรวจสอบไฟล์ข้อมูล เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในชิ้นงานพิมพ์อันจะก่อให้เกิดความเสียหายและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เช่น ตรวจสอบว่าไฟล์ภาพมีครบหรือไม่ แบบตัวอักษรถูกต้องหรือไม่ ขนาดหน้าของชิ้นงานถูกต้องหรือไม่ มีการเผื่อตัดตกเพียงพอหรือไม่ การกำหนดสีถูกต้องหรือไม่ ฯลฯ
การจัดวางหน้าสำหรับทำแม่พิมพ ์ เนื่องจากแม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์มักมีขนาดใหญ่กว่าชิ้นงาน แม่พิมพ์หนึ่งชุดสามารถวางชิ้นงานได้หลายชิ้น ขั้นตอนนี้จะเป็นการจัดวางหน้าสำหรับทำแม่พิมพ์แต่ละชุด อนึ่งในการวางหน้าหนังสือต้องจัดวางหน้าให้ถูกต้อง เมื่อนำไปพับแล้วหน้าต่าง ๆ จะได้เรียงอย่างถูกต้อง
การทำปรู๊ฟดิจิตอล ก่อนที่จะทำเป็นแม่พิมพ์จริง มักจะมีการทำตัวอย่างงานพิมพ์ขึ้นเพื่อตรวจรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนสีสันว่าถูกต้องหรือไม่ การทำปรู๊ฟดิจิตอลจะประหยัดกว่าการทำแม่พิมพ์จริงแล้วทำปรู๊ฟจากแม่พิมพ์ หากมีการแก้ไขก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก
การทำฟิล์มแยกสี เหลักการของการทำฟิล์มแยกสี คือ การแยกภาพในไฟล์งานออกมาเป็นภาพสีโดด ๆ โดยมาตรฐานจะได้ภาพแม่สีสี่ภาพ ไฟล์งานจะถูกส่งเป็นไฟล์ในรูปแบบโพสคริปต์ แล้วแปลงเป็นไฟล์รูปแบบราสเตอร์ส่งไปเครื่องยิงฟิล์ม ก็จะได้ฟิล์มที่มีภาพขาวดำตามภาพของสีแต่ละสีที่แยกไว้ และเรียกฟิล์มชุดนี้ว่าฟิล์มแยกสี
การทำแม่พิมพ์ เมื่อได้ฟิล์มแยกสีก็นำฟิล์มของแต่ละสีมาทาบกับแม่พิมพ์ที่เคลือบด้วยสารไวแสง ทำการฉายแสง ส่วนที่โดนแสงจะทำปฏิกิริยากับสารไวแสง เมื่อนำไปล้างน้ำยาก็จะเกิดภาพบนแม่พิมพ์สำหรับใช้ในการพิมพ์
การทำปรู๊ฟแท่น/ปรู๊ฟแม่พิมพ์ ในกรณีที่ต้องการตัวอย่างงานพิมพ์ที่มีรายละเอียดและสีสันที่ถูกต้องยิ่งขึ้นไว้ใช้เปรียบเทียบกับงานในขบวนการพิมพ์ จำเป็นต้องทำตัวอย่างหรือปรู๊ฟจากแม่พิมพ์จริง ซึ่งอาจทำโดยใช้เครื่องปรู๊ฟที่จำลองการพิมพ์จากเครื่องพิมพ์จริงหรือใช้เครื่องพิมพ์จริงเลยก็ได้
กระบวนการการพิมพ์ (Press Process)
การเตรียมพิมพ์ ได้แก่ การเตรียมวัสดุใช้พิมพ์ คำนวณจำนวนที่ต้องการพิมพ์ ทำการตัดเจียนขนาดวัสดุใช้พิมพ์สำหรับเข้าเครื่องพิมพ์ให้ถูกต้อง เตรียมหมึกที่ใช้พิมพ์ ในขณะเดียวกันก็ต้องตรวจดูแม่พิมพ์ว่าสมบูรณ์หรือไม่ ศึกษาปรู๊ฟเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากเป็นการพิมพ์สองด้านให้จับคู่แม่พิมพ์ให้ถูกต้อง
การพิมพ์ หลักการพิมพ์ในระบบต่าง ๆ มักจะเป็นการพิมพ์ทีละสีลงบนวัสดุใช้พิมพ์ หลักการคร่าว ๆของการพิมพ์โดยทั่วไปจะมีระบบป้อนวัสดุใช้พิมพ์เข้าไปในเครื่องพิมพ์ผ่านการพิมพ์ทีละสีโดยการรับโอนภาพหมึกจากแม่พิมพ์ซึ่งรับหมึกมาจากระบบจ่ายหมึกมาก่อน เมื่อพิมพ์เสร็จก็ส่งวัสดุใช้พิมพ์ไปเก็บพักไว้ เครื่องพิมพ์แต่ละเครื่องอาจมีหน่วยพิมพ์ 1 สี 2 สี 4 สี หรือมากกว่านั้น การพิมพ์หลากสีจึงอาจถูกนำเข้าเครื่องพิมพ์หลายเที่ยว เมื่อผ่านการพิมพ์ครบถ้วนแล้ว ต้องรอพักให้หมึกแห้งสนิทจึงนำไปดำเนินการขั้นตอนต่อไป สำหรับการพิมพ์ระบบดิจิตอล จะไม่มีขบวนการทำฟิล์มแยกสีหรือแม่พิมพ์ สามารถส่งคำสั่งพิมพ์โดยตรงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เลย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ไปกับการทำแม่พิมพ์ แต่มีข้อเสียคือ หากพิมพ์จำนวนมากจะทำให้ต้นทุนสูงกว่าแบบปกติ
กระบวนการหลังการพิมพ์ (After Press Process)
การเคลือบผิว เช่น การเคลือบวาร์นิช การเคลือบยูวี การเคลือบพีวีซี การเคลือบเงาเฉพาะจุด (SpotUV)
ปั๊มแผ่นฟอล์ย ได้แก่ การปั๊มด้วยความร้อนให้แผ่นฟอล์ยไปติดบนชิ้นงานเป็นรูปตามแบบปั๊ม มีทั้งการปั๊มฟอล์ยเงิน/ทอง ฟอล์ยสีต่าง ๆ ฟอล์ยลวดลายต่าง ๆ ฟอล์ยฮาโลแกรม เป็นต้น
การปั๊มนูน/ปั๊มลึก คือ การปั้มให้ชิ้นงานนูนขึ้นหรือลึกลงจากผิวเป็นรูปร่างตามแบบปั๊ม
การขึ้นรูป ได้แก่ การตัดเจียน เช่น งานทำฉลาก การขึ้นเส้นสำหรับพับ การปั๊มเป็นรูปทรง/การไดคัท งานเจาะหน้าต่างเป็นรูปต่าง ๆ การพับ การม้วน เช่น งานทำกระป๋อง การทากาวหรือทำให้ติดกัน เช่น งานทำกล่อง การหุ้มกระดาษแข็ง เช่น งานทำปกแข็ง งานทำฐานปฏิทิน
การทำรูปเล่ม เป็นขบวนการสำหรับทำงานประเภทสมุด หนังสือ ปฏิทิน กระดาษก้อน ฯลฯ มีขั้นตอนคือ
-การตัดแบ่ง เพื่อแบ่งงานพิมพ์ที่ซ้ำกันในแผ่นเดียวกัน
-การพับ เพื่อพับแผ่นพิมพ์เป็นหน้ายก
-การเก็บเล่ม เพื่อเก็บรวมแผ่นพิมพ์ที่พับแล้ว/หน้ายกมาเรียงให้ครบเล่มหนังสือ
-การเข้าเล่ม เพื่อทำให้หนังสือยึดติดกันเป็นเล่ม มีวิธีต่าง ๆ คือ การเย็บด้วยลวด เย็บมุงหลังคา การไสสันกาว
การเย็บที่ทากาว การเย็บที่หุ้มปก การเจาะรูร้อยห่วง เมื่อผ่านการยึดเล่มติดกัน ก็นำชิ้นงานมาตัดเจียนขอบสามด้านให้เรียบเสมอกันและได้ขนาดที่ต้องการ (ยกเว้นงานทีเย็บกี่หุ้มปกแข็งและงานที่เจาะรูร้อยห่วงจะผ่านการตัดเจียนก่อนเข้าเล่ม)
การบรรจุหีบห่อ เมื่อได้ชิ้นงานสำเร็จตามที่ต้องการ ทำการตรวจสอบชิ้นงาน แล้วบรรจุหีบห่อพร้อมส่งไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป